เรียนรู้ยุงลาย
วงจรชีวิตยุงลาย
ยุงลายเป็นแมลงจำพวกหนึ่ง ซึ่งในประเทศไทยมีมากกว่า 100 ชนิด แต่มี 2 ชนิดเท่านั้นที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก ได้แก่ ยุงลายบ้าน เป็นพาหะหลัก และยุงลายสวนที่เป็นพาหะรอง ในวงจรชีวิตของยุงนั้นจะประกอบด้วยระยะต่างๆ โดยมี 4 ระยะ ได้แก่ ระยะไข่, ระยะตัวอ่อน, ระยะดักแด้หรือตัวกลางวัย และ ระยะตัวเต็มวัย ทั้ง 4 ระยะนี้มีความแตกต่างกันออกไปทั้งในรูปร่างและการดำรงชีวิต
ระยะไข่
ลักษณะของไข่ยุงจะคล้ายกระสวย และเมื่อวางออกมาใหม่ๆจะมีลักษณะสีขาวนวล และจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและดำ ภายใน 24 ชม.
ระยะตัวอ่อน (ลูกน้ำ)
ในส่วนของตัวอ่อนนั้นส่วนอกจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าส่วนหัว ส่วนท้องจะมีรูปทรงยาวเรียวประกอบด้วยปล้อง 10 ปล้อง และมีท่อหายใจอยู่บนปล้องที่ 8 เพื่อใช้ในการหายใจ ท่อหายใจของยุงลายนั้นจะมีขนาดสั่นกว่ายุงรำคาญ และจะมีกลุ่มขนอยู่บนท่อหายใจ
ระยะดักแด (ตัวโม้ง)
รูปร่างเหมือนมีก้อนปกคลุมอยู่หรือคล้ายกับเครื่องหมายจุลภาค มีอวัยวะหายใจ 1 คู่ อยู่ส่วนบน
ระยะตัวเต็มวัย (ยุง)
ตัวเต็มวัยมีลักษณะ:
- ตัวเปราะบาง อ่อนนุ่ม แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนที่เห็นได้ชัด ได้แก่ ส่วนหัว ส่วนท้อง ความยาวประมาณ 4-6 มม. และ ส่วนอก
- มี 6 ขา อยู่ส่วนอก
- มีปีก 1 คู่ อยู่บริเวณส่วนอก มีลักษณะ ปีกบางใส มีเกล็ดเล็กๆ
- ปากยาว มีลักษณะคล้ายแท่งดูด
วงจรชีวิตและนิสัยของยุงลาย
ส่วนมากยุงลายมักจะวางไข่ตามผิวน้ำ โดยวางไข่ครั้งละประมาณ 100 ฟอง อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ยุงจะวางไข่มากน้อยไปตามจังหวะใน 24 ชม. โดยอาศัยช่วงแดดลดลง จากผลวิจัยพบว่ายุงลายมักจะวางไข่ในเวลาก่อนพระอาทิตย์ตกดินมากที่สุด ไข่จะเติบโตและพร้อมที่จะฟักเป็นตัวอ่อนภายใน 2 วัน ตัวอ่อนของยุงลายเรียกว่าลูกน้ำ ลูกน้ำจะคงอยู่ในระยะนี้ประมาณ 6-8 วัน หรืออาจจะมากหรือน้อยกว่าขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและสิ่งแวดล้อม ลูกน้ำสามารถลอกคาบได้ถึง 4 ครั้ง จากลูกน้ำระยะที่ 1 จนถึง 4 ลูกน้ำจะใช้ท่อหายใจเกาะทำมุมกับผิวน้ำโดยลำตัวเอียง การเคลื่อนไหวของลูกน้ำคล้ายงูเลื้อยไปมา ไม่ชอบแสงสว่าง อาหารของลูกน้ำ ได้แก่ อินทรีย์สาร ตะไคร่น้ำ แบคทีเรีย เศษอาหาร และเมื่อลูกน้ำเข้าระยะที่ 4 และกำลังจะกลายเป็นตัวโม่งหรือเข้าดักแดนั้นการเคลื่อนไหวจะช้าลง หรือไม่เคลื่อนไหวเลยก็ว่าได้ ในระยะนี้ตัวโม้งจะไม่กินอาหารแล้วจะเปลี่ยนเป็นตัวเต็มวัยภายใน 1-2 วัน